spot_imgspot_img
  • Aetos Bonus 50000
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจกุมขมับ บาทแข็งโป๊ก ส่งออกไทยตกขอบ สะกิดแผลเศรษฐกิจ ซ ตั้งแต่ต้นปี 2566 สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง อีกทั้งผันผวนรวดเร็ว โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 32.97 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าในรอบ 9 ปี นับจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 เงินบาทแข็งค่าระดับ 32.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ หากนับตั้งแต่ต้นปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 5.7% และแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในเอเชีย โดยสกุลวอน (เกาหลีใต้) แข็งค่า 3.2% ดอลลาร์ไต้หวัน แข็งค่า 3.6% ดอลลาร์สิงคโปร์ แข็งค่า 2.8% เงินรูปีของอินเดีย แข็งค่า 1.1% เงินเยน ของญี่ปุ่น แข็งค่า 2.6% เงินริงกิตของมาเลเซีย แข็งค่า 3.9% เงินหยวนของจีน แข็งค่า 2.8% เงินเปโซของฟิลิปปินส์ แข็งค่า 3.1% ขณะที่ เงินด่องของเวียดนาม แข็งค่า 0.6%
ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่น เป็นผลจากเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีท่าทีว่าการใช้นโยบายการเงินใกล้ถึงจุดสิ้นสุด อีกทั้งตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจไทย จะคืนชีพได้จาก นักเที่ยวจีนเข้าไทยสนับสนุนให้ท่องเที่ยวบูม รวมถึงฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทย กดดันให้เงินบาทแข็ง กลับกันการแข็งค่าเงินบาท เป็นตัวเร่งให้ภาคการส่งออกหดตัว
เงินบาทเคลื่อนตามกลไกตลาด
ภาพรวมค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ปิติ ดิษยทัตผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจงว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สะท้อนปัจจัยพื้นฐานภายในที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และปัจจัยภายนอกที่ธนาคารกลางหลักเริ่มลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เป็นไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ จึงถือว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น สมเหตุสมผลและยังไม่พบปัจจัยผิดปกติ
ทั้งนี้ เงินบาทแข็งเป็นปัจจัยเล็กๆ ที่กระทบการส่งออก แต่สิ่งที่ส่งผล กระทบหนักคือปัจจัยจากประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงนักลงทุน คาดหวังให้เศรษฐกิจจีนดีขึ้น แต่ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังวางใจไม่ได้ ดังนั้น เงินบาทยังเสี่ยงผันผวน หากผันผวนมากจนมีผล กระทบต่อเศรษฐกิจ ธปท.จะเข้าดูแล
หวั่นผันผวนเร็วเสียโอกาสแข่งขัน
ขณะที่ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ส่งสัญญาณผ่านข้อกังวลว่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วไม่เป็นผลดีต่อการส่งออก โดยประเมินการส่งออกปี 2566 ขยายตัวเพียง 1-2% หลังส่งสัญญาณชะลอตัวในเดือนธันวาคม 2565 ติดลบ 14.6% ติดลบเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 สะท้อนเศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอยชัดเจนและมีผลต่อประเทศไทยแล้ว
เรื่องนี้ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการ กกร. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกสูง เป็นสัดส่วน 60% ต่อจีดีพี เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นและแข็งค่าที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ย่อมทำให้เสียเปรียบความสามารถแข่งขันด้านราคา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังหดตัว ดูจากการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ระยะต่อไปยังเจอปัญหาหลังจีนเปิดเมือง สินค้าจีนก็จะออกมาดัมพ์ราคาโลกอีกครั้ง กลับมาเป็นคู่แข่งเจ้าใหญ่ของอาเซียนและตลาดโลก จะปิดโอกาสให้ส่งออกไทยที่ตั้งไว้บวก 1-2% อาจติดลบได้ ขณะเดียวกัน จากเงินบาท แข็งการนำเข้าสินค้าจะสูง โดยเฉพาะการสั่งตรงจากจีน เพราะราคาถูก เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ผู้ผลิตในไทยถูกแย่งลูกค้าและตลาดถูกครองโดยต่างชาติ
“ระดับค่าเงินที่ทั้งผู้นำเข้าและส่งออกรับได้ มองว่าเหมาะสมในขณะนี้ อยู่ที่ 33-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มองว่าเป็นจุดตรงกลางที่สร้างสมดุลระหว่างกันได้ดี แต่ถ้าหลุดกรอบจากนี้ และยิ่งค่าเงินไม่นิ่ง จะทำให้ธุรกิจเสียหายจากการคาดการณ์ที่ผิดคาด” เกรียงไกรกล่าว
ภาคเกษตร-อาหารกุมขมับ
แวดวงการส่งออกอย่าง ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้า ทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ค่าเงินผันผวนในช่วง 32.5-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ยังเคลื่อนไหวฝั่งแข็งค่าโดยจุดสำคัญที่สุดคือแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันไทยด้อยกว่าคู่แข่งประมาณ 7% ประกอบกับต้นทุนการผลิตด้านอื่นๆ อาทิ ค่าไฟฟ้า แรงงาน ดอกเบี้ยของไทยสูงขึ้น โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ สินค้าเกษตร และอาหารที่ในไตรมาส 2/2566 จะมีผลผลิตออกมากแต่การส่งออกต่ำลงและมี รายได้จากกำไรที่ลดลงจากค่าเงินแข็ง เพราะกลุ่มเกษตรมีต้นทุนด้านวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าราคาแพง นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกข้อคือ นักลงทุน เล็งการตั้งถิ่นฐานการผลิต หรือธุรกิจอื่นๆ จะพิจารณาภาพรวมต้นทุนสุดท้ายแย่ที่สุด นักลงทุนคงเลือกไปประเทศอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า
อีกมุมมอง วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การส่งออกได้รับผลกระทบ 2 ด้าน โดยประเด็นแรกเป็นปัจจัยผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของประเทศมหาอำนาจช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาวะความกังวลเรื่อง ค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจจะชะลอตัวที่ยังมีสัญญาณรุนแรง จึงเป็นผลที่ทำให้การส่งออกแผ่วลง ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่า เข้ามาเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้การส่งออกขยับเดินหน้าไปได้ยากขึ้น
โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเกษตรอาหารที่ผลิตในประเทศไทยและใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เพราะผู้ประกอบการไม่ได้ซื้อหรือขายได้คล่องตัวเหมือนช่วงต้นปี 2565 ขณะที่ผลผลิตเตรียมออกตามฤดูกาล เมื่อผลผลิตออกมามากแต่ไม่สามารถส่งออกได้จะส่งผลให้ธุรกิจเกิดความเสียหายชัดเจนที่สุด เพราะผู้ส่งออกขายราคาเดิม แต่ตลาดผู้รับซื้อหากค่าเงินอ่อนเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทจะทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าไทยได้ยากขึ้น หรือผู้รับซื้อจะเลือกสินค้าประเภทเดียวกันของประเทศอื่นที่ค่าเงินอ่อนกว่าแทน
ธุรกิจนำเข้ายังขาดทุน
วิศิษฐ์ยืนยันว่า ฟากผู้นำเข้าอาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คิด โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ที่ยังมีวัตถุดิบหลายชนิดต้องพึ่งพานำเข้า และเป็นแหล่งผลิต อย่างรัสเซีย ยูเครน เมื่อ 2 ประเทศเกิดสงครามผลผลิตสู่ตลาดโลกจะหายไป อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ประเทศนี้ผลิตเป็นสัดส่วน 20-30% ของโลก หาตลาดทดแทนไม่ทัน ส่งผลราคานำเข้าสูงกว่าปกติมาก กรณีนี้บาทแข็งไม่ส่งประโยชน์ตรงนี้กับการนำเข้า
สุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยืนยันว่า เงินบาท แข็งค่าอาจไม่ช่วยให้การนำเข้าสินค้ามีต้นทุนลดลง เนื่องจากปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นและมีการนำเข้าปริมาณสูง แม้เงินบาทแข็ง ก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบในราคาแพงอยู่ดี ส่งผลให้การส่งขายในประเทศผู้เลี้ยงสัตว์อาจได้กำไรน้อยลง หากขึ้นราคาสูงมากจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชน จนเกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจ ตอนนี้ ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มทรงตัวเฉลี่ย 96-100 บาท/กิโลกรัม จากราคาต้นทุน อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ 13.35 บาท/กิโลกรัม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้น 30% ขายได้ 9 บาท/กิโลกรัม แต่ตลาด ซื้อขายสินค้าล่วงหน้าชิคาโก ส่งมอบเดือนมีนาคม 2566 ปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 9.198 บาท/กิโลกรัม อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหากสภาพภูมิอากาศของประเทศแปรปรวน
ฝากโจทย์รัฐตั้งรับเศรษฐกิจ
ปัจจัยเศรษฐกิจโลกกดดันค่าเงินบาทล้วนมาจากการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจโลก เรื่องนี้ อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ การแก้ตรงจุดคือแก้ปัญหาจาก ธปท.เป็นหลัก แต่ด้วยเศรษฐกิจยังไม่นิ่ง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจกดดัน ทำให้ใช้เครื่องมือทางการเงิน หรือการเข้าแทรกแซงเงิน อาจทำได้ไม่มาก เพราะฝ้นตลาด หากพยุงค่าเงิน 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ธปท.ต้องขึ้นดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้เงินบาทอ่อน แต่การทำเช่นนี้ประชาชนจะเจ็บตัวหนัก เพราะภาระหนี้มากขึ้น ทั้งนี้ โครงสร้างการเงินไทยสามารถเคลื่อนไหว โดยไม่กระทบต่อการส่งออก สามารถเปลี่ยนได้แต่อยู่ที่การคิดของทีมผู้นำจะพาประเทศไปสู่ทิศทางใดยังต้องติดตาม
เรื่องค่าเงินนั้น ผู้ประกอบการสะท้อนมาตลอด อย่ามองว่าบาท ควรแข็งหรืออ่อนเท่าไหร่ ขออย่างเดียวอย่าผันผวนเร็ว แก้ปัญหานี้ ตกได้ อย่างอื่นก็คลี่คลาย
ทีมเศรษฐกิจ
Source: มติชนออนไลน์

REVIEW OVERVIEW

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_imgspot_imgspot_imgspot_img
[td_block_1 custom_title="Review Brokers" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10" category_id="101" sort="oldest_posts"][td_block_1 custom_title="Last Post" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10"]