spot_imgspot_img
  • Aetos Bonus 50000
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่โจทย์เศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

โจทย์เศรษฐกิจรัฐบาลใหม่

อาทิตย์ที่แล้ว ผมถูกถามทุกวันทำไมหุ้นตก เกี่ยวกับผลเลือกตั้งหรือเปล่า จึงชี้แจงว่าการปรับลงของตลาดหุ้นหลังการเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นทุกครั้งในบ้านเราเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะหลังการเลือกตั้งมีความไม่แน่นอนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลที่อาจใช้เวลา
นักลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรจึงลดความเสี่ยงหรือ Risk-off ไปก่อนเพื่อรอดูความชัดเจน และสิ่งที่นักลงทุนหวังจะเห็นคือ เรามีรัฐบาลที่ดี มีเสถียรภาพ รู้ปัญหา สามารถบริหารประเทศได้อย่างตรงจุดและมีวินัย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในสายตานักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพมากที่จะพัฒนาและเติบโต ที่น่าเสียดายคือ เศรษฐกิจไทยจากที่เคยเป็นเศรษฐกิจระดับแนวหน้าของภูมิภาคปัจจุบันได้กลายเป็นเศรษฐกิจที่มีปัญหามาก ทําให้คนในประเทศเสียโอกาสที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่ประเทศเองก็ไม่สามารถบรรลุศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจและคนในประเทศมี
ปัญหาเศรษฐกิจของเรา คืออัตราการขยายตัวที่ต่ำ ทำให้รายได้ของประเทศเพิ่มช้า สาเหตุหลักก็เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งต่างประเทศคือการส่งออกและการท่องเที่ยวมากเกินไป ไม่มีความเข้มแข็งภายในประเทศทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่ายที่จะขับเคลื่อนประเทศ
ปีใดที่การส่งออกไม่โตเพราะปัญหาความสามารถในการแข่งขัน และหรือภาคการท่องเที่ยวตก เช่น กรณีโควิด เศรษฐกิจเราก็เหมือนหยุดนิ่งเพราะไม่มีความเข้มแข็งของการใช้จ่ายภายในประเทศเข้ามาทดแทน ต้องอาศัยการใช้จ่ายภาครัฐโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาเสริม ซึ่งเงินที่รัฐบาลใช้กระตุ้นก็มาจากการกู้หรือก่อหนี้เพิ่มขึ้น
นี่คือเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจเราจึงฟุบยาว ฟื้นช้า และโตตํ่ากว่าประเทศอื่นๆ ในช่วงโควิด แม้รัฐบาลจะใช้จ่ายโดยการกู้เงินมากถึง 2.7 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกัน
ในส่วนของเศรษฐกิจที่ขยายตัว การเติบโตก็เป็นแบบตัวอักษร K คือคนส่วนน้อยได้ประโยชน์มากขณะที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์น้อยเพราะไม่มีทรัพย์สิน กิจการ หรือธุรกิจในมือที่จะสร้างรายได้ ความเหลื่อมลํ้าในระบบเศรษฐกิจจึงมีมาก พร้อมกําลังซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่อ่อนแอ
ที่สำคัญกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ คือ บริษัทมีกําไร ตนเองมีรายได้ มีเงินออม ก็ไม่นําเงินไปลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อสร้างนวัตกรรม สร้างการผลิตใหม่ สร้างงานให้กับคนในประเทศ เลือกแต่จะลงทุนในสินทรัพย์การเงิน เช่น หุ้น เราจึงเห็นหุ้นไทยมีแต่ขึ้นทั้งที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ
ผลคือประเทศเราไม่มีฐานการผลิตหรือสินค้าใหม่ที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ภาคการผลิตเหมือนหยุดนิ่ง ไม่เดินไปข้างหน้าในแง่ความทันสมัย ไม่มีการจ้างงานใหม่
ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มหรือหารายได้ กําลังซื้อในประเทศและการขยายตัวของเศรษฐกิจจึงต่ำ ขณะที่ความเหลื่อมล้ำมีแต่เพิ่มขึ้น นี่คือเศรษฐกิจเรา และเป็นแบบนี้มามากกว่าสิบปี
ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มาเรียนา แมสซูคาโต มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร ให้ความเห็นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจอย่างน่าฟังว่า เศรษฐกิจคือผลลัพธ์จากสิ่งที่เราทํา
เรานี้หมายสิ่งที่ภาครัฐของประเทศทําในแง่นโยบายเศรษฐกิจและบริหารประเทศ และสิ่งที่ภาคเอกชนทําในแง่การทำธุรกิจและหากําไร ทั้งสองส่วนผสมผสานกัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองส่วนนี้คือรัฐกับเอกชน ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเป็นอย่างที่เป็น และสำหรับเศรษฐกิจที่มีปัญหา สาเหตุมักจะมาจากสามเรื่อง
1.ภาครัฐคือรัฐบาลของประเทศ ในฐานะผู้นําประเทศ บริหารเศรษฐกิจแบบตอบสนองปัญหาวันต่อวันคือ Reactive ไม่มีเป้าหรือวาระเชิงรุกที่จะแก้ปัญหาหรือขับเคลื่อนประเทศอย่างเป็นระบบ เช่นเรื่อง ดิจิทัล ความสามารถในการแข่งขัน ความเหลื่อมลํ้า หรือปัญหาโลกร้อน
2.ภาคธุรกิจมุ่งแต่จะทํากำไรสูงสุด ไม่สนใจเรื่องอื่น มุ่งแต่เรื่องระยะสั้น เช่น ทําให้ตัวเลขกําไรระยะสั้นไตรมาสต่อไตรมาสดูดีเพื่อความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน
3.ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเกินไประหว่างรัฐ หมายถึงรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศกับธุรกิจขนาดใหญ่บางราย เป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลหรือโอบอุ้มซึ่งกันและกัน รัฐเข้าช่วยเหลือ ให้เงินอุดหนุน บริษัทมีอิทธิพลต่อการกําหนดมาตรการและนโยบาย เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน นำไปสู่การผูกขาด การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม บริษัทได้ประโยชน์ มีรายได้มีกำไรมาก แต่ไม่ลงทุน
ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือสิ่งที่เป็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ครบทั้งสามเรื่อง คือ ภาครัฐขาดความจริงจังที่จะแก้ปัญหาและขับเคลื่อนประเทศ รู้สึกเหมือนว่าไม่เดือดร้อนและพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ ภาคธุรกิจมุ่งแต่เรื่องกําไรโดยไม่สนใจว่ากําไรที่เกิดขึ้นได้มาอย่างไร ทําให้การให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหารุนแรงในประเทศเรา
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุนบางกลุ่มเป็นปัญหาใหญ่ จนเหมือนเป็นเครื่องมือให้กันและกัน นำไปสู่การปกป้องคุ้มครอง การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การทุจริตคอร์รัปชัน และทําลายแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการเลือกตั้งซื้อเสียงที่ใช้เงินมาก ทั้งหมดคือสิ่งที่ต้องแก้ถ้าเศรษฐกิจของประเทศจะเดินหน้าและขยายตัวสูงขึ้น
คําตอบในเรื่องนี้ว่าจะแก้อย่างไรอยู่ที่สิ่งที่ศาสตราจารย์ท่านนี้สรุปคือ ภาครัฐต้องเปลี่ยนในสิ่งที่ทำ ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนในสิ่งที่ทํา และความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับกลุ่มทุนในระบบเศรษฐกิจก็ต้องเปลี่ยน
ทั้งหมดต้องเปลี่ยนเพื่อแก้ความบิดเบือนที่มีในเศรษฐกิจที่เปรียบเหมือนลูกตุ้มที่กดทับไม่ใหัระบบเศรษฐกิจของประเทศเติบโต ทําเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจยืนอยู่บนหลักของการแข่งขันและความเป็นเสรีซึ่งเป็นหัวใจของระบบทุนนิยม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์เป็นฐานที่ถูกต้องและเข้มแข็งให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต
นี่คือโจทย์เศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า คือการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี เป็นโจทย์ที่คนทั้งประเทศรอการแก้ไข
ดังนั้น ขอสนับสนุนรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทําเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องที่ยากแต่สำคัญมากต่ออนาคตของคนทั้งประเทศและเป็นสิ่งที่ต้องทํา เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เป็นการแก้ปัญหาที่จะให้ประโยชน์คนในประเทศมากสุดในระยะยาว เป็นสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นและเอาใจช่วย.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

REVIEW OVERVIEW

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_imgspot_imgspot_imgspot_img
[td_block_1 custom_title="Review Brokers" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10" category_id="101" sort="oldest_posts"][td_block_1 custom_title="Last Post" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10"]